วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

ประวัติหลวงพ่อเพชร

ตำนานหลวงพ่อเพชร วัดท่าหลวง ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชัดแน่นอน เพียงแต่มีตำนานเล่าขานกันสืบมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาลว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้เกิดขบถจอมทองเมืองเชียงใหม่ กองทัพกรุงศรีอยุธยาจึงได้ไปปราบปรามจองทอง เมื่อเดินทัพมาถึงเมืองพิจิตร แม่ทัพก็ได้สั่งให้หยุดพักรี้พลที่เมืองพิจิตร ซึ่งทางเจ้าเมืองพิจิตรก็ได้ให้การต้อนรับปฏิสันถารเป็นอย่างดี ซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่กองทัพเป็นอย่างยิ่ง เมื่อกองทัพกรุงศรีอยุธยาหายเหนื่อยแล้ว จึงออกเดินทางจากเมืองพิจิตร แต่ก่อนที่จะจากกันเจ้าเมืองพิจิตรได้ไปปรารภกับแม่ทัพว่า ถ้าปราบขบถเสร็จเรียบร้อยดีแล้วขอให้หา พระพุทธรูปงาม ๆ มาฝากสักองค์หนึ่ง ฝ่ายทางแม่ทัพเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ยุ่งยากนัก จึงรับปากว่าจะหามาให้ตามความต้องการ หลังจากนั้นก็มุ่งสู่จอมทอง เมื่อไปถึงได้ปราบขบถจอมทองจนราบคาบ ก่อนเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยาก็นึกถึงคำร้องของเจ้าเมืองพิจิตร จึงอัญเชิญหลวงพ่อเพชรจากจอมทองมาด้วย โดยประดิษฐานบนแพลูกบวบล่องมาตามลำน้ำแม่ปิง เมื่อมาถึงเมืองกำแพงเพชรก้ได้ฝากหลวงพ่อเพชรไว้กับเจ้าเมืองกำแพงเพชร ต่อมาเมื่อเจ้าเมืองพิจิตรทราบข่าวจึงพร้อมด้วยชาวเมืองพิจิตรเป็นจำนวนมาก ได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อเพชรมาประดิษฐานไว้ ที่วัดนครชุม (เมืองพิจิตรเก่า) ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองพิจิตรซึ่งนำความชื่นชมโสมนัสมาสู่ชาวพิจิตรเป็นอย่างมาก

จนกระทั่งถึงปีพุทธศักราช ๒๔๔๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕มีพระราชประสงค์จะหาพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามเพื่อนำไปไว้ที่วัดเบญจมบพิตร จังหวัดพระนคร เจ้าพระศรีสุริยศักดิ์ สหมุเทศาภิบาล มณฑลพิษณุโลก จึงได้สั่งให้หระยาเทพาธิบดี (อิ่ม) เจ้าเมืองพิจิตร ขณะนั้นแสวงหาพระพุทธรูปที่สวยงามตามพระราชประสงค์ เมื่อได้รับคำสั่งดังนั้นพระยาเทพาธิบดีจึงออกตรวจดูพระพุทธรูปทั่ว ๆ ไปในเมืองพิจิตร ก็พบว่าองค์หลวงพ่อเพชรเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามตามพระราชประสงค์ และเพื่อสะดวกในการขนย้าย จึงได้จ้างชาวณวนคนหนึ่งชื่ออาง ทำการทะล่วงหุ่นดินภายในองค์หลวงพ่อเพชรการทะลวงหุ่นดินนั้นก็เพื่อต้องการให้น้ำหนักเบา แล้วนำขึ้นเกวียนมาลงเรือชะล่า มีปรำลากจูงด้วยเรือพาย และเมื่อมาถึงเมืองพิษณุโลกก็เทียบท่าอยู่หน้าวัดพระศรีมหาธาตุหลังจากนั้นเจ้าเมืองพิจิตร พระยาเทพาธิบดี ก็ได้ไปกราบเรียนสมุหเทศาภิบาลว่า ได้นำองค์หลวงพ่อเพชรมาถึงเมืองพิษณุโลกแล้ว และกราบเรียนต่อไปว่า การนำหลวงพ่อเพชรมาครั้งนี้ชาวเมืองพิจิตรทุกคนมีความโศกเศร้าเสียใจเป็นอันมาก เพราะเสียดายในองค์หลวงพ่อเพชรในฐานะที่เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่เดิม เมื่อได้ทราบดังนั้น สมุหเทศาภิบาลจึงได้โปรดทราบตรวจดูพระพุทธรูปก็เห็นว่างดงานจริง ๆ ดังคำบอกเล่าของเจ้าเมืองพิจิตร แต่มีขนาดองค์ใหญ่โตเกินไป อีกประการหนึ่งก็เห็นว่าเป็นการทำลายจิตใจของชาวเมืองพิจิตรจึงได้สั่งให้เจ้าเมืองพิจิตรนำกลับไปไว้ที่เมืองพิจิตรตามเดิมการนำเอาหลวงพ่อเพชรกลับมายังเมืองพิจิตรคราวนี้นั้น ไม่ได้นำไปไว้ที่อุโบสถที่วัดนครชุมเหมือนเดิม แต่นำมาไว้ที่วัดท่าหลวง โดยทำปรำคลุมไว้เป็นการชั่วคราว เมื่อประชาชนรู้ข่าวการนำองค์หลวงพ่อเพชรกลับมาที่เมืองพิจิตรต่างก็พากันมาปิดทองนมัสการอยู่ที่วัดท่าหลวง จึงได้ปรึกษาหารือกันจะแห่แหนหลวงพ่อเพชรกับไปวัดนครชุมอย่างเดิมส่วนราษฎรทางเมืองใหม่เห็นว่า เมืองพิจิตรได้ย้ายมาตั้งใหม่แล้ว หลวงพ่อเพชรก็ควรจะอยู่เป็นมิ่งขวัญของชาวเมืองใหม่ด้วย จึงไม่ยินยอมให้ชาวเมืองเก่านำกลับไปวัดนครชุมเหตุการณ์ตอนนี้มีผู้เล่าขานว่า ขนาดเกิดการยื้อแย่งกัน และถึงขั้นการเตรียมอาวุธเข้าประหัตประหารกัน เดือดร้อนถึงพระธรรมทัสสีมุนีวงศ์ (เอี่ยม) เจ้าคณะจังหวัดพิจิตรในขณะนั้น ต้องออกห้ามทัพด้วยเดชะบารมีขององค์หลวงพ่อเพชร ประกอบกับชาวเมืองพิจิตรเคารพนับถือท่านมาก ศึกครั้งนั้นจึงยุติลง และได้ชี้แจงว่าจะหล่อหลวงพ่อเพชรจำลองเท่ากับขนาดองค์จริงเพื่อนำกลับไปให้ชาวเมืองเก่าแทนองค์หลวงพ่อเพชรองค์จริง ส่วนหลวงพ่อเพชรองค์จริงนั้นขอให้ประดิษฐานไว้ที่วัดท่าหลวงซึ่งท่านเป็นเจ้าโอวาสอยู่ และถ้าชาวเมืองเก่าจะมานมัสการก็ไม่ไกลเกินไปนัก ชาวเมืองพิจิตรก็เชื่อฟังแต่โดยดีไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น

หลวงพ่อเพชร จึงประดิษฐานอยู่ที่วัดท่าหลวงตราบเท่าทุกวันนี้อีกเหตุกรณ์หนึ่งที่ หลวงพ่อเพชร วัดท่าหลวง ได้ประดิษฐานที่วัดท่าหลวงนั้น มีคนเล่าสืบต่อกันมาว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะอัญเชิญพระพุทธชินราชจากวัดศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมพิตร ซึ่งพระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ พระองค์จึงมีพระกระแสรับสั่งให้สืบหาพระพุทธรูปที่มีลักษณะที่งดงามสมควรที่จะนำไปแทนพระพุทธชินราชได้ จึงมีคำสั่งให้เจ้าเมืองพิจิตรนำองค์หลวงพ่อเพชรไปยังเมืองพิษณุโลก ข่าวการที่ราชการจะนำ องค์"หลวงพ่อเพชร"ไปล่วงรู้ไปถึงประชาชน ต่างพากันเสียดายและหวงแหนองค์หลวงพ่อเพชรเป็นอันมาก จึงได้คบคิดกับนายอาง ซึ่งเป็นชาวญวนจัดการทะลวงหุ่นดินภายในองค์หลวงพ่อเพชรออก เพื่อให้น้ำหนักเบาสะดวกในการขนย้าย เมื่อจัดการทะลวงหุ่นดินออกแล้วก็ช่วยกันย้ายองค์หลวงพ่อเพชรไปซ่อนไว้ในป่า และเคลื่อนย้ายไปเรื่อย ๆ มิได้หยุดหย่อนข่าวการนำองค์หลวงพ่อเพชรเคลื่อนย้าย หาได้พ้นการติดตามและค้นหาของเจ้าหน้าที่ทางบ้านเมือง ผลที่สุดก็ใช้อำนาจบังคับให้นำองค์ หลวงพ่อเพชร มาจากเมืองเก่า และได้นำมาพักไว้ชั่วคราวที่วัดท่าหลวง เพื่อรอการนำไปยังเมืองพิษณุโลกชาวเมืองพิษณุโลกก็เช่นเดียวกันกับชาวเมืองพิจิตร เมื่อทางราชการจะนำองค์หลวงพ่อพระพุทธชินราชไปจากพวกเขา ต่างก็พากันหวงแหนโศกเศร้าเสียใจ ร้องให้กันทั่งเมือง เป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก ทานเจ้าคุณสมุหเทศาภิบาล จึงไดนำความเรื่องนี้ขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์ทรงทราบก็เห็นใจชาวเมืองพิษณุโลก จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ระงับการนำพระพุทธชินราชไปกรุงเทพฯ โดยจะหล่อพระพุทธชินราชจำลองประดิษฐานในพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรแทน เมื่อหลวงพ่อพุทธชินราชไม่ได้เคลื่อนย้ายไปกรุงเทพฯ หลวงพ่อเพชร วัดท่าหลวง จึงประดิษฐานอยู่ที่วัดท่าหลวง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร จนกระทั่งปัจจุบันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น